กศน. เรียนกันยังไง?
จากรายงานข้อมูลเด็กเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการเรียนในรูปแบบ “กศน.” เป็นคำตอบที่ถูกเลือกเยอะที่สุด ให้เป็นประเภทสถานศึกษาที่เด็กกลุ่มนี้ต้องการเรียนต่อ โดยคิดเป็น 31.3 %
ไม่น่าแปลกใจที่กศน. จะเป็นตัวเลือกหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้ เพราะเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสมของผู้เรียนที่อาจจะต้องทำงานหรือมีภาระส่วนตัว การเรียนกศน. จะทำให้ผู้เรียนยังเรียนและได้วุฒิการศึกษาควบคู่กันไปด้วย
วันนี้โครงการของเราจะพาทุกคนไปรู้จักกับการเรียนในรูปแบบ กศน. มากขึ้น เพื่อหาคำตอบว่าทำไม กศน. ถึงเป็นอีกตัวเลือกทางการศึกษาของใครหลาย ๆ คน
หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ ตามปรัชญาพื้นฐานของการศึกษานอกโรงเรียน “คิดเป็น” เน้นพัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ ประยุกต์ใช้ความรู้ให้ตนเอง ชุมชนและสังคม
โครงสร้างหลักสูตร กศน. ประกอบด้วยหลักสูตรระดับประถมฯ ม.ต้นและม.ปลาย
โดยมีวิธีการจัดการศึกษาหลายรูปแบบ ได้แก่
1. การเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองตามรายวิชา โดยมีครูคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำ
2. การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม ผู้เรียนมาพบกัน มีครูทำหน้าที่ให้เกิดกระบวนการกลุ่ม ให้มีการอภิปรายระหว่างนักเรียน
3. การเรียนรู้แบบทางไกล จัดการเรียนรู้โดยใช้สื่อ ครูนักเรียนสื่อสารกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พบกันเป็นครั้งคราว
4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน สถานศึกษา กำหนดวิชา เวลาและสถานที่ชัดเจน เหมาะกับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียน
5. การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตามต้องการและความสนใจจากสื่อเอกสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือจากการฝึกปฏิบัติแล้วนำความรู้มาเทียบโอนเป็นวุฒิการศึกษา
6. การเรียนรู้จากการทำโครงงาน ผู้เรียนกำหนดประเด็นปัญหาที่สนใจ เพื่อนำไปศึกษาค้นคว้า ทดลอง ลงมือทำจริง และสรุปผล โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
7. การเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ที่สถานศึกษาออกแบบให้ตรงกับผู้เรียน
สถานศึกษาแต่ละที่สามารถเลือกรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือหลาย ๆ รูปแบบได้ และมีกิจกรรมสอนเสริมได้ไม่จำกัด ตามความความยากง่ายของเนื้อหาและความเหมาะสมกับวิถีชีวิตผู้เรียน