สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของตำบล
ประวัติความเป็นมาตำบลน้ำทรง
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ร.ศ.127 (พ.ศ.2452) รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามชนบท ได้เสด็จผ่านหมู่บ้านที่มีหนองน้ำขนาดใหญ่ และก่อนที่จะเสด็จผ่านไปนั้น นางสนมที่ตามเสด็จได้ลงสรงน้ำที่หนองน้ำดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกชื่อหนองน้ำแห่งนั้นว่า "หนองนางสรง" และเรียกเพี้ยนกันมาเป็น "หนองน้ำทรง" เมื่อตั้งเป็นตำบลจึงเรียกชื่อตำบลว่า "ตำบลน้ำทรง" จนถึงปัจจุบัน
พื้นที่
ตำบลน้ำทรง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา) ห่างจากที่ว่าการอำเภอพยุหะคีรี ประมาณ 15 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 35 กิโลเมตร มีพื้นที่ 62.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 26,450 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านพื้นที่ หมู่ 1,2,3,4,5,6,7,11 มีลำคลองและหนองน้ำตามธรรมชาติหลายแห่งเหมาะแก่การทำการเกษตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน,
เขตพื้นที่
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.ยางขาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.ย่านมัทรี และ ต.พยุหะ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ต.เนินแจง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
อาชีพ
อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกชะอม
อาชีพเสริม รับจ้าง
สาธารณูปโภค
จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ในเขต อบต. 1,265 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 90.00 จำนวนบ้านที่มีโทรศัพท์ 388 หลังคาเรือน คิดเป็นร้อยละ 30.67 ของจำนวนหลังคาเรือน
การเดินทาง
จากกรุงเทพมหานคร ใช้ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32) ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เมื่อเข้าชัยนาทถนนสายเอเชียจะบรรจบกับถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) จากนั้นใช้ถนนพหลโยธิน ไปจนกระทั่งถึงชุมทางต่างระดับ (Interchange) ซึ่งเป็นทางแยกระหว่างถนนพหลโยธินตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 333 (ไปอุทัยธานี) ให้เลี้ยวซ้ายไป จากนั้นตรงข้ามสะพานพระวันรัตน์ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา) บริเวณเชิงลาดทางลงของสะพาน จะมีถนนของกรมโยธาธิการสายบ้านน้ำทรง-บ้านยางขาว อยู่ฝั่งขวา ให้เลี้ยวขวาเข้าไป (สามารถสังเกตป้ายยินดีต้อนรับของ อบต.น้ำทรง บริเวณปากทางของถนน) ท่านก็เข้าสู่พื้นที่ของตำบลน้ำทรงแล้ว