สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของตำบล
ประวัติความเป็นมา
ตำบลสำโรงชัย ชุมชนดั้งเดิม คือบ้านสำโรงชัย ตั้งมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นเมืองสมัยโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ มีซากวัตถุโบราณให้เห็น เช่น อุโบสถ วิหาร หอสมุด กุฏิฤาษีพระพุทธปฏิมากร ระฆัง จอมปราสาท สระแก้ว สระขวัญ ฯลฯในท้องที่ หมู่ที่ 5 (บ้านหนองไผ่) หมู่ที่ 9 (บ้านเขาพระพุทธบาท) ตำบลสำโรงชัย ประมาณว่ามีอายุในราวปีพุทธศักราช 1204
ในสมัยก่อนเดินทางโดยทางเรือ ซึ่งมีลำห้วยที่กว้างและลึกมาก เรือกำปั่นสามารถแล่นได้สะดวก ขบวนเรือต่าง ๆ ที่บรรทุกสิ่งของและเงินทองต่าง ๆแล่นมาถึงบ้านเสาธงชัย เรือดังกล่าวพุ่งเข้าชนรากของต้นสำโรง และถูกรากสำโรงไชทะลุลำเรือทำให้เรือล่มบริเวณที่เรียกว่า คลองรักหรือคลองสำโรงชัยในปัจจุบัน หมู่บ้านนี้จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่าบ้าน”สำโรงไช” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อว่า “บ้านสำโรงชัย” และเป็นชื่อของตำบลสำโรงชัย ในปัจจุบันนี้
พื้นที่
มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์และมีเทือกเขา มีฝนตกตามฤดูกาล มีน้ำไหลหลากจากเทือกเขาตำบลตะคร้อเป็นเวลานานทำให้เกิดลำคลองน้อยใหญ่ ซึ่งมีความยาวจากเขตตำบลตะคร้อผ่านบ้านหนองไผ่ บ้านวังตลุก บ้านวังกรด บ้านวังคาง บ้านสำโรงชัย และอำเภอท่าตะโก ลำคลองได้แยกเป็น 2 สาย สายหนึ่งไหลสู่บึงบอระเพ็ด สายหนึ่งไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
เขตพื้นที่
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลโพธิ์ประสาท อำเภอไพศาลี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลวังข่อย ตำบลตะคร้อ อำเภอไพศาลี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอท่าตะโก
อาชีพ
อาชีพหลัก เกษตรกร
อาชีพเสริม ค้าขาย พืช เศรษฐกิจ คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วต่าง ๆ และอาชีพเลี้ยงสัตว์เพื่อขาย เช่น โค สุกร ไก่ อาชีพรองหลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวจะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป
สาธารณูปโภค
ตำบลสำโรงชัย มีครัวเรือนอาศัยอยู่ จำนวน 3,814 ครัวเรือน มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โทรศัพท์สาธารณะจำนวน 13 แห่ง ไปรษณีย์เอกชน จำนวน 1 แห่ง
การเดินทาง
ตำบลสำโรงชัยเดิมขึ้นอยู่กับอำเภอท่าตะโก ปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอไพศาลี อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครสวรรค์ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 69 กิโลเมตร การติดต่อกับจังหวัดใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3004 (สายนครสวรรค์ – ท่าตะโก – ไพศาลี)