วันรักการอ่าน 2566
วันรักการอ่าน (ภาษาอังกฤษ: Reading Day) ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี กำหนดขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอ่าน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
การอ่านถือเป็นทักษะที่สำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตโดยทั่วไป แต่ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะการก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล เช่น รายการโทรทัศน์ หรือแหล่งรวมวิดีโอออนไลน์อย่าง YouTube
ในปี พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ พ.ศ. 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน เพื่อให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยังกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน เพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอีกด้วย และยังกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็น “วันรักการอ่าน” ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงมีคุณูปการต่อวงการหนังสือไทย สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการอ่านของประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้
นอกจากจะเป็นวันรักการอ่านแล้ว วันที่ 2 เมษายน ยังเป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” อีกด้วย เพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในด้านศิลปวัฒนธรรมไทยในสาขาต่าง ๆ
โดยสรุปแล้ว เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้:
- การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
- วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ปี พ.ศ. 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน
- ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรม
ในช่วงวันที่ 2 เมษายนซึ่งตรงกับวันรักการอ่าน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะสถานศึกษาต่าง ๆ และห้องสมุด นิยมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน ตัวอย่างกิจกรรมวันรักการอ่าน ได้แก่
- จัดนิทรรศการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้
- จัดโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่
- กิจกรรมแข่งขันตอบคำถามหรือประกวด เช่น แข่งขันตอบคำถามเกี่ยวกับวรรณกรรม แข่งขันประดิษฐ์ที่คั่นหนังสือ วาดภาพระบายสี แต่งเรื่อง เขียนเรียงความ
- แนะนำหนังสือน่าอ่าน ร่วมกิจกรรมบันทึกการอ่าน หรือจัดชมรมนักอ่าน (book club)
- มอบรางวัลเกี่ยวกับการอ่านให้กับสถาบันหรือบุคคล เช่น รางวัลส่งเสริมการอ่านหรือยอดนักอ่าน เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจในการอ่านอย่างสม่ำเสมอ