- นางสาวศิริวรรณ จันทนมัฎฐะ
- ข่าวกิจกรรม กศน.ตำบล
- จำนวนการเข้าชม: 1361
ไวรัสโคโรนาคืออะไร
ไวรัสโคโรนาเป็นไวรัสในวงศ์ใหญ่ที่เป็นสาเหตุของโรคทั้งในสัตว์และคน ในคนนั้น ไวรัสโคโรนาหลายสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาจนถึงโรคที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS) ไวรัสโคโรนาที่ค้นพบล่าสุดทำให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19
โรคโควิด 19 คืออะไร
โรคโควิด 19 คือโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาชนิดที่มีการค้นพบล่าสุด ไวรัสและโรคอุบัติใหม่นี้ไม่เป็นที่รู้จักเลยก่อนที่จะมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในเดือนธันวาคมปี 2019 ขณะนี้โรคโควิด 19 มีการระบาดใหญ่ไปทั่ว ส่งผลกระทบแก่หลายประเทศทั่วโลก
อาการของโรคโควิด 19 คืออะไร
อาการทั่วไปของโรคโควิด 19 พี่พบมากที่สุดคือ ไข้ ไอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น และอ่อนเพลีย อาการที่พบน้อยกว่าแต่อาจมีผลต่อผู้ป่วยบางรายคือ ปวดเมื่อย ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและค่อยๆเริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง
ผู้ป่วยส่วนมาก (80%) หายป่วยได้โดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีอาการหนักและหายใจลำบาก ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือมะเร็งมีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยรุนแรงกว่า อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถติดโรคโควิด 19 ได้และอาจป่วยรุนแรง คนทุกเพศทุกวัยที่มีอาการไข้ และ/หรือไอร่วมกับอาการหายใจลำบาก/ติดขัด เจ็บหน้าอก เสียงหาย หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากเป็นไปได้ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้า เพื่อสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำ
เราควรทำอย่างไรหากมีอาการของโรคโควิด 19 และควรจะไปพบแพทย์เมื่อใด
หากมีอาการไม่รุนแรงเช่นไอเล็กน้อยหรือไข้ต่ำๆ โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ อยู่บ้าน กักตัวเอง และติดตามดูอาการ ปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในการแยกตัวเองจากผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตามหากคุณเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 (ยืนยันโดยการตรวจ) ท่านควรปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม หากท่านอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรียหรือไข้เลือดออก ท่านต้องเฝ้าระวังอาการไข้และไปพบแพทย์ เมื่อไปสถานพยาบาล ควรสวมหน้ากากและเว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่นและไม่เอามือไปจับพื้นผิวต่างๆ หากเป็นเด็กป่วย ให้ดูแลเด็กให้ทำตามคำแนะนำนี้ด้วย
ไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการหายใจลำบากและ/หรือเจ็บหน้าอก หากเป็นไปได้ โทรไปก่อนล่วงหน้า เพื่อทางสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำ
โรคโควิด 19 แพร่ระบาดได้อย่างไร
เราสามารถรับเชื้อจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 คนอื่น โรคนี้สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูกหรือปากซึึ่งออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด 19 ไอ จามหรือพูด ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ไปไม่ได้ไกล และจะตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว เรารับเชื้อโรคโควิด 19 ได้จากการหายใจเอาละอองเข้าไปจากผู้ป่วย เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร ละอองเหล่านี้ยังตกลงสู่วัตถุและพื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู ราวจับ และเมื่อคนเอามือไปจับพื้นผิวเหล่านั้นแล้วมาจับตา จมูกหรือปาก ก็จะมีเชื้อโรค นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอลเจลถูมือ
เราจะสามารถติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการได้หรือไม่
โรคโควิด 19 แพร่ทางละอองจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือมีอาการอื่นเช่น ไข้หรืออ่อนเพลีย ผู้ป่วยโควิด 19 จำนวนมากมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ป่วยที่ไอจามเล็กน้อยและไม่รู้สึกป่วยเลย
เราจะป้องกันตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างไรหากไม่รู้ว่าใครมีเชื้อบ้าง
การรักษาสุขอนามัยของมือ การเว้นระยะห่าง รักษามารยาทในการไอ/จาม เป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำตลอดเวลาและเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันตัวเองและคนที่เรารัก รวมถึงการรักษาระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คนหรือสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท และคุณควรสวมหน้ากากอนามัยหากไม่สามารถเว้นระยะห่างทางกายได้
และคุณควรทำทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
เมื่อไรที่เราควรรับการตรวจหาเชื้อ
หากเป็นไปได้ทุกคนที่มีอาการ หรือบุคคลที่ไม่มีอาการแต่เป็นบุคคลที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ควรได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ของท่าน
ในขณะที่คุณรอผลการตรวจหาเชื้อ คุณควรแยกกักจากผู้อื่น และรักษามาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ในบางพื้นที่ที่การตรวจอาจมีข้อจำกัด การตรวจหาเชื้อควรทำกับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรด้านสาธารณสุข บุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ รวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านพักผู้สูงอายุ
เราควรทำอย่างไรหากเราไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19
หากคุณไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19 คุณก็อาจจะติดเชื้อได้
การสัมผัสใกล้ชิดหมายถึงอาศัยอยู่ด้วยกันหรืออยู่ใกล้กันภายในระยะ 1 เมตรกับผู้ป่วย ในกรณีเหล่านี้ ควรอยู่บ้านและปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม หากท่านอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรียหรือไข้เลือดออก ท่านต้องเฝ้าระวังอาการไข้และไปพบแพทย์ เมื่อไปสถานพยาบาล ควรสวมหน้ากากและเว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่นและไม่เอามือไปจับพื้นผิวต่างๆ หากเป็นเด็กป่วย ให้ดูแลเด็กให้ทำตามคำแนะนำนี้ด้วย
หากคุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีมาลาเรียหรือไข้เลือดออก ให้ปฏิบัติตามนี้
ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างเคร่งครัด
หากมีอาการป่วย แม้เพียงอาการไม่รุนแรง ให้แยกตัวเอง สวมหน้ากากให้ถูกต้องตามคำแนะนำ
แม้คุณจะคิดว่าไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับเชื้อ แต่มีอาการ ก็ควรจะแยกกักตัวเองและสังเกตอาการ
คุณมีแนวโน้มมากกว่าที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในระยะเริ่มแรกที่อาการไม่รุนแรง เพราะฉะนั้น การรีบแยกกักตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
หากคุณไม่มีอาการใดแต่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้แยกกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน
หากคุณเป็นผู้ป่วยโรคโควิด 19 (ยืนยันโดยการตรวจ) ปฏิบัติตามกำหนดของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และให้แยกตัวเองต่อ 14 วันแม้อาการจะหมดไปแล้วเพื่อเป็นการระมัดระวัง ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าคนยังสามารถแพร่เชื้อต่อได้เป็นเวลาเท่าใดหลังจากหายแล้ว ให้ทำตามคำแนะนำของทางการเรื่องการแยกตัวอย่างเคร่งครัด
เด็กหรือวัยรุ่นติดเชื้อโควิด 19 ได้หรือไม่
งานวิจัยระบุว่าเด็กและวัยรุ่นก็มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้เท่ากับกลุ่มอายุอื่น ๆ และสามารถแพร่เชื้อได้
หลักฐาน ณ ปัจจุบันบ่งชี้ว่าเด็กและวัยหนุ่มสาวจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรง แต่อาการรุนแรงก็ยังคงเกิดได้ในกลุ่มอายุนี้
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรทำตามข้อแนะนำเรื่องการกักกันและการแยกกักหากมีความเสี่ยงสัมผัสโรคหรือมีอาการต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เด็กควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง
เราควรทำอย่างไรเพื่อป้องกันตัวเองและลดการแพร่ระบาดของโรค
ติดตามข่าวสารข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งหาได้จากเวปไซต์ขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสาธารณสุขของท่าน หลายประเทศทั่วโลกมีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันและหลายประเทศกำลังมีการระบาดใหญ่ ทางการบางประเทศประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไม่สามารถคาดเดาได้จึงควรติดตามข่าวสารต่อเนื่อง
เราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อได้ด้วยการทำตามข้อควรระวังดังนี้
ล้างมือบ่อยๆให้สะอาดด้วยแอลกอฮอลเจลหรือด้วยน้ำและสบู่ เพราะการทำความสะอาดมือด้วยสองวิธีนี้เป็นการฆ่าเชื้อโรคที่อยู่บนมือเรา
รักษาระยะอย่างน้อย 1 เมตร จากผู้อื่น เพราะเมื่อคนไอ จาม หรือ พูด จะทำให้เกิดฝอยละอองขนาดเล็กจากจมูกและลำคอซึ่งอาจมีเชื้อโรคได้ ถ้าอยู่ใกล้เกินไปก็จะหายใจเอาละอองเหล่านั้นเข้าไปด้วยซึ่งมีเชื้อโรคปนอยู่ ในกรณีที่คนนั้นไม่สบาย
สวมหน้ากากหากไม่สามารถรักษาระยะห่างได้
เลี่ยงการไปพื้นที่หนาแน่นหรือการระบายอากาศไม่ดี เพราะเมื่อคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เรามีโอกาสเสี่ยงที่จะเข้าใกล้ผู้ป่วยโควิด 19 และเมื่อคนหนาแน่นก็จะรักษาระยะห่าง 1 เมตรได้ยาก
เลี่ยงการเอามือมาจับตา จมูกและปาก เพราะมือไปสัมผัสอะไรมาหลายอย่างและอาจไปสัมผัสเชื้อโรคมาด้วย เมื่อมือปนเปื้อนก็จะส่งต่อเชื้อโรคไปยังตา จมูกและปาก จากนั้นเชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เราป่วย
ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้างควรมีสุขลักษณะที่ดีเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหมายความว่า ต้องปิดปากทุกครั้งที่ไอหรือจามด้วยข้อพับแขนด้านในหรือด้วยกระดาษทิชชู จากนั้นทิ้งกระดาษทิชชูทันทีและล้างมือ เพราะละอองแพร่เชื้อได้ การมีมารยาทในการไอ/จามที่ดี เราก็ป้องกันคนรอบตัวจากเชื้อโรคอื่น ๆ ด้วยเช่น หวัด ไข้หวัดและโรคโควิด 19
อยู่บ้านและแยกตัวเองถึงแม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอ ปวดศีรษะ ไข้ จนกว่าจะหายดี ให้ใครมาส่งเสบียงและสิ่งของจำเป็น แต่หากต้องออกจากบ้านใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เพราะการเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นเป็นการป้องกันผู้อื่นจากเชื้อโควิด 19 และเชื้อโรคอื่นๆ
หากมีอาการไข้ และ/หรือไอร่วมกับอาการหายใจลำบาก/ติดขัด ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากเป็นไปได้ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้า เพื่อสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำ เพราะหน่วยงานของรัฐและท้องถิ่นมีข้อมูลของสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ของท่าน การโทรไปแจ้งล่วงหน้าจะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถแนะนำท่านให้ไปยังหน่วยบริการทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวท่านเองและป้องการการแพร่กระจายของไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆด้วย
ติดตามข่าวสารจ้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุข เพราะทางการและท้องถิ่นจะให้ข้อมูลได้ดีที่สุดว่าคนในพื้นที่ควรจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันตนเอง
ขณะนี้มียารักษาโควิด 19 โดยเฉพาะหรือไม่
ขณะที่ยาแผนปัจจุบัน แผนโบราณและการรักษาตามบ้านหลายตำรับอาจทำให้สบายขึ้นและบรรเทาอาการได้ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง แต่ก็ยังไม่มียาป้องกันหรือรักษาโควิด 19 โดยเฉพาะ องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ทานยาเองซึ่งรวมถึงยาปฏิชีวนะต่างๆไม่ว่าจะกินเพื่อป้องกันหรือเพื่อรักษา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการทดลองทางคลิกนิกเพื่อทดลองยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณหลายสูตร องค์การอนามัยโลกอยู่ระหว่างการประสานความพยายามต่างๆที่จะพัฒนายารักษาโควิด 19 นี้ และจะมาให้ข้อมูลข่าวสารเมื่อมีผลของการวิจัยออกมา
วิธีที่ได้ผลที่สุดที่จะป้องกันท่านและผู้อื่นจากโควิด 19 คือ
การล้างมือบ่อยๆ และเลี่ยงการเอามือมาสัมผัสตา จมูกและปาก และ
ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชูหรือข้อศอกเมื่อไอหรือจาม ทิ้งกระดาษทิชชูทันทีและล้างมือให้สะอาด และรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น และ
สวมหน้ากากเมื่อไม่สามารถรักษาระยะห่าง