วัดบางมะฝ่อ
ตั้งอยู่ที่บ้านบางมะฝ่อ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ 60170 ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งทิศใต้ของอำเภอโกรกพระ คนเก่าแก่ของหมู่บ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ชื่อบ้านว่า “บางมะฝ่อ” ตั้งชื่อตามต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำ ที่อยู่เหนือวัดประมาณ ๒๐๐ เมตร (ปัจจุบันนี้ตื้นเขินไร้ร่องรอยแล้ว) ตามทำเนียบกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า วัดสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๒ (ก่อนสร้างกรุงเทพมหานคร ๓ ปี) โดยมีนายฝ้าย นางจันทร์ ได้อุทิศที่ดินก่อสร้างถวายให้วัด จึงมีชื่อเดิมว่า “วัดจันทร์ป่าฝ้าย” มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวา ตามโฉนดปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ยังมีพื้นที่ตั้งโรงเรียนอีก ๑ แห่งยังไม่ได้ทำโฉนด ส่วนพระอุโบสถสร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐
ตามประวัติที่ติดป้ายไว้ วัดบางมะฝ่อสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๒ (สมัยกรุงธนบุรี) เดิมชื่อวัดจันทป่าฝ้าย ตามนามผู้สร้าง คือนายจันท์ และนางฝ้าย แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญานวโรรส ได้ประทานพระมหาสมณวินิจฉัยว่า วัดในตำบลบ้านใด ก็ควรมีชื่อตามตำบลนั้นๆ วัดบางมะฝ่อจึงได้รับนามนี้มาแต่นั้น
พระอุโบสถวัดบางมะฝ่อ ปฏิสังขรณ์ขึ้นในช่วงปี พ.ศ.๒๔๖๗ - ๒๔๗๑ ยุคที่พระครูนิภาสธรรมคุณ (หลวงพ่ออ่อน จนฺทโชโต) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ชาวบางมะฝ่อก็ยังคงนับถือศรัทธากันอย่างยิ่ง ถึงขนาดถูกรวมเข้าไปในคำขวัญของตำบลที่ว่า “ชาวบางมะฝ่อ เหล่ากอคนดี ประเพณีข้าวแช่ กล้วยหอมแน่ ละมุดหวาน ลูกหลานหลวงพ่ออ่อน” ได้อาศัยพระเถระอีกรูปหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์เป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้าง คือหลวงพ่อเดิม หรือพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (พ.ศ.๒๔๐๓ - ๒๔๙๔) แห่งวัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องราวของหลวงพ่อเดิมนี้น่าสนใจมาก ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญในจังหวัดนครสวรรค์ มีวิชาด้านต่างๆ สารพัด รวมถึงวิชาช่าง มีวัดกว่าสิบแห่งทั่วนครสวรรค์ที่นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างหรือปฏิสังขรณ์ ทั้งในเขตตาคลี พยุหะคีรี โกรกพระ หนองบัว ท่าตะโก และดอน-คา จริยวัตรของท่านในแง่นี้จึงคล้ายคลึงกับครูบาศรีวิชัยแห่งล้านนา
จิตรกรรมฝาผนังวัดบางมะฝ่อ สัณนิฐานว่าเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๕ สังเกตได้จากเป็นภาพเขียน ที่มีลักษณะการใช้รูปแบบศิลปะตะวันตกเข้ามาผสมผสานที่มีลักษณะตานกมอง แต่มีระยะใกล้ไกล ส่วนที่อยู่ใกล้จะโตกว่าและค่อยๆเล็กลงตามระยะที่อยู่ไกล จิตรกรรมฝาผนังวัดบางมะฝ่อนี้ ดูเหมือนว่าจะมีช่างเขียน ๒ กลุ่ม รูปภาพที่อยู่ในวิหารยังยึดรูปแบบโบราณ คือแบบครู ดูจากการใช้สีมีสีน้อย และเขียนใช้สีที่มีโทนสว่าง เพราะอยู่ภายในอาคารที่ทึบมืด การใช้สีโทนสว่างทำให้ดูชัดเจนขึ้น และบรรยากาศภายในวิหารจะไม่มืด ส่วนภาพที่อยู่ในพระอุโบสถสัณนิฐานว่าเขียนหลังจากภาพที่อยู่ในวิหาร เพราะมีหลายสี และเป็นสีที่สดใส ส่วนรูปแบบก็เป็นแบบเดียวกันกับภาพภายในวิหาร คือ มีระยะ ใกล้ไกลแบบเดียวกับศิลปะตะวันตก